ประวัติศาสตร์นครลำปาง
จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) เป็นต้นมา คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชื่อของเมืองเขลางค์อันเป็นเมืองในยุคแรก ๆ และเมืองนครลำปาง ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งจากตำนานศิลาจารึกพงศาวดาร และจากคำที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย ได้แก่ตำนานจามเทวี ชินกาลบาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเจ้าเจ็ดตน พงศาวดารโยนก
คำว่า ‘”ละกอน” หรือ “ละคร” (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป แม้แต่จังหวัดใกล้เคียงเช่น แพร่ น่าน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ มักจะเรียกชาวลำปางว่า “จาวละกอน” ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลีว่า เรียกว่า “เขลางค์ “เช่นเดียวกับ ละพูรหรือลำพูน ซึ่งทางภาษาบาลีเรียกว่า “หริภุญชัย”และเรียกลำปางว่า “ลัมภกัปปะ” ดังนั้น เมืองละกอนจึงหมายถึง บริเวณอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์ คือเมืองโบราณรูปหอยสังข์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง อยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
ส่วนคำว่า”ลำปาง” เป็นชื่อที่ปรากฎหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ลัมภกัปปนคร” ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปนครมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
ลักษณะของเมือง ศึกษาดูจากภาพถ่ายทางอากาศและการเดินสำรวจทางภาคพื้นดิน พบว่ามีคันคูล้อมรอบ 3 ชั้น (แต่ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น) นอกจากนี้พบเศษกระเบื้อง ภาชนะดินเผา เศียรพระพุทธรูปดินเผาสมัยหริภุญชัยและสถูปแบบสมัยหริภุญชัย สันนิษบานว่าเมืองลัมภกัปปะนี้น่าจะเป็นเมืองกัลปนาสงฆ์ (เมืองทางศาสนา) มากกว่าจะเป็นเมืองทางอาณาจักรที่มีอำนาจทางการปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
ตามตำนาน วัดพระธาตุลำปางหลาง (ฉบับสาขาสมาคม เพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมประจำจังหวัดลำปาง) ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า
“พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยลำดับบ้านใหญ่เมืองน้อย ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลัวะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำเผิ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ชัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักเป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ “ลัมภางค์”
ดังนั้นนามเมืองลำปาง จึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
จังหวัดลำปางเดิมชื่อ “เมืองนครลำปาง” จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ.2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า “ลคอร” ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจาก มณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้